เคยรู้สึกสงสัยไหมครับว่า ทำไมต้องใช้ขาตั้งกล้อง ? ผมเชื่อได้เลยครับว่า “ขาตั้งกล้อง” มักจะเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพชื้นท้ายๆ ที่ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพมักจะเลือกซื้อ ส่วนใหญ่งบประมาณมักจะหมดไปกับเลนส์ตัวใหม่, แฟลช, ฟิลเตอร์ หรือกระเป๋าใบสวย
แต่ผมบอกได้เลยครับขาตั้งกล้องนี่แหละครับ ที่จะช่วยเติมเต็มให้ภาพของคุณสวยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น(แต่ต้องอดทนแบกมันหน่อยนะ) ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงความสำคัญของขาตั้งกล้อง ทำไมต้องมี เลือกซื้ออย่างไร ใช้อย่างไร ดูแลรักษายังไง เรียกว่าบทความนี้ “ครบเครื่องเรื่องขาตั้ง” กันไปเลยครับ
ทำไมต้องใช้ขาตั้งกล้อง ?
คำถามนี้ง่ายมาก“เพราะมือของเราถือไม่ไหว”ไงครับ ถามต่อ แล้วในสถานการณ์ไหนล่ะ ที่ว่าถือไม่ไหว? ก็ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ชัตเตอร์สปีดช้าๆอย่างในตอน ถ่ายดาว, ถ่ายน้ำตก, ถ่ายไฟกลางคืนอย่างตึก, ถนน ที่เห็นไฟท้ายรถวิ่งเป็นเส้น, ถ่ายพลุ, ถ่ายงานสถาปัตยกรรมที่ต้องการแนวระนาบที่ตั้งตรง ฯลฯ
นอกจากนี้ขาตั้งกล้องยังอำนวยความสะดวกให้คุณได้ แม้ว่าในสถานการณ์นั้นจะใช้มือเปล่าลั่นชัตเตอร์ได้ก็เถอะ เช่น ถ่ายสินค้า, ถ่ายพอร์เทรต, ถ่ายมาโคร หรืองานถ่ายบุคคล,วัตถุ, สถานที่ หรือก็ตามที่อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ เป็นเวลานาน โดยที่ตัวแบบและช่างภาพไม่ได้ขยับ การมีขาตั้งกล้องซักตัว จะช่วยให้การทำงานของคุณง่ายขึ้นมากอ่านมาถึงตรงนี้เริ่มอยากได้ขาตั้งกันแล้วใช่ไหมครับ งั้นมาดูวิธีการเลือกซื้อกันก่อนดีกว่า
เลือกซื้อขาตั้งกล้องอย่างไรให้เหมาะกับเรา
ขาตั้งกล้องแม้หน้าตาจะดูมีสามขาเหมือนๆกันไปหมด แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อย ที่แตกต่างกันพอสมควรนะครับ
1. วัสดุ
ปัจจุบันขาตั้งกล้องจะนิยมผลิตจากวัสดุอยู่ 2 ชนิดคือ อลูมิเนียม และคาร์บอนไฟเบอร์ ความแตกต่าง คือ ขาตั้งกล้องที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์จะมีน้ำหนักเบากว่าโดยเฉลี่ย 20-30% แต่รับน้ำหนักได้เท่ากันกับอลูมีเนียม (แต่ราคาห่างกันเป็นครึ่ง) พื้นผิวไม่ไวต่ออุณหภูมิคือไม่ว่าอากาศร้อนหรือหนาว เราสามารถจับได้โดยไม่สะดุ้ง ไม่เหมือนอลูมีเนียมที่จะต้องหุ้มยางหรือฟองน้ำที่ขาด้านใดด้านหนึ่งให้จับ
แต่อลูมิเนียมก็มีข้อดีที่ความแข็งแรงที่ทนทานต่อแรงกระแทกมากกว่า คาร์บอนไฟเบอร์ที่มีความเปราะหากได้รับแรงกระแทกแรงๆ อาจหักหรือแตกได้
2. การรับน้ำหนัก
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงเป็นเรื่องต้นๆ เลยครับ เพราะขาตั้งกล้องที่จะมาใช้งานกับกล้องเรานั้นจะแข็งแรงมั่นคงหรือไม่มันขึ้นตรงกับเรื่องการรับน้ำหนักเลยครับ โดยเริ่มต้นคำนวณน้ำหนักโดยให้คิดจาก “บอดี้กล้อง + เลนส์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่มี + แบตเตอรี่ กริป,แฟลช หรืออุปกรณ์อื่นๆ ถ้ามี”(น้ำหนักของอุปกรณ์ต่างๆสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์แบรนด์นั้นๆครับ ไม่ยาก)
สมมติได้น้ำหนักทั้งหมด 2 กิโลกรัม ขาตั้งกล้องที่เราควรมองหาก็ควรจะมีสเปคระบุไว้ว่าต้องรับน้ำหนักได้ 4 กิโลกรัม หรืออีกนัยคือ ควรรับน้ำหนักได้สองเท่าจากน้ำหนักกล้องและอุปกรณ์ของเรานั้นเองครับ
3. ความสูงของขาตั้ง
อันนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสรีระความสูงของเราครับ เพราะการถ่ายภาพที่สะดวกสบายโดยการใช้ขาตั้ง คือกล้องต้องอยู่ในระดับใกล้เคียงสายตาของเราที่มองเข้าไปในวิวไฟน์เดอร์ หรือเทียบง่ายๆ คือ ความสูงของเรา ลบด้วยความสูงของขาตั้งเมื่อสูงสุด (ไม่ยืดแกนกลาง) ต้องไม่มากกว่า 10 เซนติเมตร เช่น ตัวผมสูง 180 (อย่าถามน้ำหนักนะ) ขาตั้งกล้องที่เหมาะสมกับผมก็ควรมีความสูงประมาณ 170 เซนติเมตรครับ
แต่ปัจจุบันการถ่ายภาพโดยระบบไลฟ์วิว เป็นที่นิยมมากในกล้อง Mirrorless ระยะความสูงนี้อาจจะไม่ต้องซีเรียสมากครับ
4. จำนวนท่อนขา
จำนวนท่อนของขาตั้งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งเลยครับ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับการพกพา ปัจจุบันขาตั้งในตลาดจะเริ่มต้นด้วย 3 ท่อนไปจนถึง 5-6 ท่อน แล้วมันมีผลอย่างไรละ
ขาตั้งกล้องที่มีจำนวนท่อนเยอะจะมีข้อดีในเรื่องการพับเก็บ เพราะเมื่อพับเก็บแล้วจะสามารถหดได้สั้น สะดวกต่อการพกพา แต่ก็มีข้อเสียตรงที่การมีท่อนขาที่มาก จำนวนข้อล็อคก็มากตามไปด้วย ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการสั้นไหวได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับขาตั้งที่มีจำนวนท่อนน้อยกว่า แต่ขาตั้งที่มีจำนวนท่อนน้อยอย่าง 3 ท่อนเมื่อพับเก็บก็จะมีความยาว โดยเฉลี่ย 50-60 เซนติเมตรเลยทีเดียวครับ
5.ระบบล็อคขา
ปัจจุบันก็นิยมอยู่ 2 รูปแบบ คือระบบ Grip Lock หรือภาษาบ้านๆ เรียกว่า บานพับ และระบบ Twist Lock หรือแบบข้อหมุน ซึ่งหากถามว่าแบบไหนดีกว่า ผมตอบเลยว่า “เอาที่พี่สะดวกเลยครับ”
เพราะการใช้งานระบบล็อคทั้งสองแบบนี้ก็มีข้อดี ข้อเสียกันอยู่บ้างครับ เช่น ข้อดีของ Grip Lock คือใช้งานง่ายสำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้งานขาตั้งมาก่อนเพราะดูออกว่าขาล็อคอยู่หรือไม่ที่บานพับ แต่ก็มีข้อเสียบานพับจะเกี่ยวกับวัตถุอื่นๆได้ง่าย
เช่น นักถ่ายภาพแนวธรรมชาติที่ต้องเดินป่า รวมถึงการดูแลรักษาทำความสะอาดที่อาจทำได้ยากกว่าแบบ Twist Lock ที่สามารถหมุนออกมาล้างทำความสะอาดได้ง่าย และด้วยข้อล็อคที่มีลักษณะกลมมนไปกับตัวขาจึงไม่เกี่ยวกับกิ่งไม้ หรืออะไรอื่นๆ รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนในการประกอบข้อล็อคที่น้อยลงกว่า Grip Lock จึงทำให้มีน้ำหนักเบาลงเมื่อเทียบกับขาตั้งในรุ่นเดียวกัน ทำให้เป็นที่นิยมสำหรับช่างภาพสายเดินป่า หรือสายนักเดินทาง
ส่วนข้อเสียคือดูยากนิดนึงครับว่าขาล็อคอยู่หรือไม่ หรืออาจหมุนผิดทิศทางจนขาหลุดออกจากกันได้ แต่ถ้าใช้งานบ่อยๆจนคล่องตัวแล้วก็จะสะดวกมากๆ ครับ
6. หัวในแบบต่างๆ
การเป็นขาตั้งกล้องที่ใช้งานได้สมบูรณ์นั้นอีกส่วนประกอบที่สำคัญคือ“หัว”ครับ โดยปัจจุบันมีให้เลือกใช้งานหลากหลายรูปแบบซึ่งผมได้เคยมีบทความเรื่องนี้โดยเฉพาะ สามารถติดตามได้ที่บทความเรื่องของหัวขาตั้งกล้องกันได้เลยครับ
เป็นไงบ้างครับ สำหรับเทคนิคเล็กๆน้อยๆในการเลือกขาตั้งกล้อง น่าจะเป็นแนวทางให้ผู้ที่กำลังสนใจไม่น้อยนะครับ สำหรับตอนต่อไป เมื่อเราได้ขาตั้งกล้องมาคู่ใจแล้ว เราก็ควรทราบถึงเทคนิควิธีการใช้งานที่ถูกต้องและการดูแลรักษา เพื่อให้ขาตั้งกล้องของเราอยู่กับเราไปนานๆครับ พอมีขาตั้งแล้ว จะใช้งานยังไง มีเทคนิคแบบไหนที่จะดูแลขาตั้งตัวโปรดของเรา อ่านได้ที่บทความ เทคนิคการใช้งาน และการดูแลขาตั้งกล้อง ต่อได้เลยครับ
และอย่าลืมติดตาม Fanpage ของแบรนด์เราในทุกช่องทางด้านล่างนี้ เพื่อรับข่าวสารและบทความใหม่ๆ กันด้วยนะครับ
Manfrotto Thiland : https://www.facebook.com/ManfrottoThailand/
Lowepro Thailand : https://www.facebook.com/LoweproTH/
Joby Thailand : https://www.facebook.com/jobythailandofficial/
Spyder Thailand : https://www.facebook.com/DatacolorSpyderTH/
เพจหลักบริษัท : https://www.facebook.com/advancedphotosystems/