fbpx
ไมค์ Podcast

4 ข้อควรรู้เลือกไมค์ Podcast

ในยุคนี้การรับฟังข่าวสาร, รายการพูดคุยในเรื่องราวต่างๆมีตัวเลือก และช่องทางต่างๆให้เราเลือกฟังและรับชมได้มากมาย แถมยังเลือกเนื้อหาได้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการหรือสนใจได้อย่างเฉพาะเจาะจงด้วย โดยเฉพาะรายการ Podcast ในแอพลิเคชั่นต่างๆ ตอนนี้เป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่คุณอยากลุกขึ้นมาเป็นผู้จัดรายการ ดำเนินการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆด้วยตัวของคุณเอง

และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้การรับชม รับฟังน่าติดตามยิ่งขึ้นที่จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาดนั้นก็คือเรื่องของ “เสียง”ครับ นั้นคือเสียงต้องมีความคมชัด ถ่ายทอดเสียงได้เป็นธรรมชาติน่าฟัง เพราะแม้เนื้อหาดีน่าสนใจอย่างไร แต่ถ้าผู้ชมฟังไม่รู้เรื่อง หรือมีเสียงที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆเข้ามารบกวนแล้วละก็ จะพาลหยุดการรับชมไปดื้อๆเลยนะครับ

ดังนั้นอุปกรณ์ที่จะทำให้เสียงพูดของคุณมีคุณภาพสูงที่สุดนั้นก็คือ “ไมค์” นั้นเอง บทความนี้เราจะมาดูกันว่าไมค์รูปแบบไหนที่ได้รับความนิยมกันบ้าง การเชื่อมต่อแบบไหนที่สะดวกและมีข้อดีอย่างไร รวมถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไมโครโฟนกัน จากนั้นเรามาตัดสินใจกันว่าไมโครโฟนแบบไหน ที่ใช่สำหรับคุณครับ

 1. Podcast ควรใช้ไมค์ Dynamic หรือ Condenser ?

จริงๆชนิดของไมโครโฟนนั้นมีมากถึง 5-6 ประเภทเลยทีเดียวนะครับ แต่ผมขอกล่าวถึงแค่ 2 ประเภทหลักๆที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายและหามาใช้งานได้ง่าย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 ประเภทนั้นคือ

ไมค์ Dynamic โดยส่วนมากเราน่าจะคุ้นเคยกันดีเพราะส่วนมากมักจะมีรูปร่างเป็นไมค์ร้องเพลงที่เราร้องคาราโอเกะกันนั้นเอง หลักการทำงานคือ เมื่อเสียงกระทบเข้าไปที่แผ่นรับเสียงหรือไดอะแฟรมก็จะเกิดการสั่นสะเทือน และทำให้มีความเคลื่อนไหวของขดลวดภายในไปยังสนามแม่เหล็กให้เป็นคลื่นเสียง สำหรับการใช้งานที่เกี่ยวกับการพูดเป็นหลัก ไมค์ Dynamic มีทั้งข้อดีและข้อเสียงในตัวมันเองนั้นคือ มีความไวต่อการรับเสียงต่ำ ดังนั้นเสียงรบกวนรอบข้างจึงเข้ามาได้น้อยมากนั้นคือข้อดี แต่ข้อเสียก็คือเวลาที่เราพูดตัวไมค์จะต้องอยู่ใกล้ปากมาก และต้องอยู่ในตำแหน่งรับเสียงที่ดีที่สุดด้วย เสียงที่ได้ถึงจะมีคุณภาพ

เลือกไมค์ Podcast
ส่วนใหญ่มักจะมีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ที่เราคุ้นเคยกัน
ขอขอบคุณรูปภาพจาก north-america.beyerdynamic.com

ส่วนไมค์ Condenser หลักการทำงานภายในจะมีแผ่นรับเสียง หรือที่เรียกกันว่าแผ่นไดอะแฟรมที่มักจะมีขนาดใหญ่กว่าของไมค์ Dynamic และจะต้องมีไฟฟ้ามาเลี้ยงไว้ตลอดเวลาการใช้งาน เมื่อมีเสียงมากระทบก็จะเกิดการสั่นสะเทือนขึ้นที่แผ่นรับเสียงก็จะเปลี่ยนแรงสั่นนั้นเป็นคลื่นสัญญาณเสียงนั้นเอง ดังนั้นด้วยแผ่นรับเสียงที่ใหญ่จึงทำให้ไมค์ Condenser ความไวต่อการรับเสียงสูงมาก ข้อดีคือเก็บรายละเอียดเสียงได้ครอบคลุมและกว้างและปากเราไม่ต้องอยู่ใกล้กับตัวไมค์มากนัก แต่ก็เป็นข้อเสียเช่นเดียวกันนั้นคือเสียงรบกวนต่างๆก็จะเข้าไปได้ง่าย ไม่ว่าจะเสียงแอร์ เสียงรถที่ผ่านไปมา การจัดการเรื่องเสียงรบกวนจึงสำคัญอย่างมากกับการใช้งานประเภทนี้ครับ

เลือกไมค์ Podcast
fifine K678 ไมค์คอนเดนเซอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

2. Podcast ควรใช้ไมค์ USB หรือ 3.5 mm ?

ในหัวข้อนี้ผมขออนุญาติพูดถึงการเชื่อมต่อของไมโครโฟนที่เข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่สามารถต่อได้โดยตรงอยู่ 2 ประเภทด้วยกันนั้นคือ

สายเชื่อมต่อแบบ USB ไมค์แบบนี้จะมีการเพิ่มวงจรแปลงสัญญาณเสียงจากอนาล็อกให้เป็นดิจิตอล หรือที่เรียกว่า ADC (Analog To Digital Converters) อยู่ที่ตัวไมค์ เสียงที่เข้ามาที่ไมค์จึงต้องผ่านวงจร ADC แล้วจึงค่อยปล่อยสัญญาณเสียงที่เป็นดิจิตัลไปที่คอมพิวเตอร์ที่เป็นอุปกรณ์ดิจิตอลเหมือนกัน และด้วยความที่ไมค์ที่มีสายเชื่อมต่อแบบ USB ที่มีวงจร ADC ในตัวเมื่อเสียบกับคอมพิวเตอร์ ไมค์ตัวนั้นก็จะเสมือน Sound Card ในตัว ข้อดีคือเมื่อนำไปเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์เครื่องใด หรืออุปกรณ์ใดก็ตาม โทนเสียง น้ำเสียงก็ยังเหมือนเดิม

ในขณะที่การเชื่อมต่อแบบ 3.5 mm. ต้องอาศัยการแปลงสัญญาณจาก Sound Card ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ซึ่งถือว่ามีผลต่อเสียงที่จะบันทึกด้วยพอสมควร เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพ Sound Card ตัวนั้นๆที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ และยังรวมถึงสัญาณรบกวนหรือ Noise ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าด้วย

นั้นจึงทำให้ในระยะหลังๆ ไมค์ที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อแบบ USB จึงเป็นที่นิยมและมีรุ่นและยี่ห้อให้เลือกใช้งานมากกว่าแบบ 3.5 mm. ค่อนข้างมาก รวมถึงเทรนด์ในอนาคตที่ช่องเสียบแบบ 3.5 mm.จะหายไปจากอุปกรณ์ไอทีไปเรื่อยๆครับ

3. การตอบสนองต่อความถี่เสียงและรูปแบบการรับเสียง

การเลือกซื้อไมโครโฟนซะตัวหนึ่งมาใช้งาน 2 เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมากๆ ถ้าเข้าใจได้ก็สามารถเลือกไมโครโฟนมาใช้งานได้ตรงกับประเภทการใช้งานของเรา ซึ่งผมรับรองเลยว่าไม่ยากเข้าใจได้ง่ายครับ

การตอบสนองคลื่นความถี่เสียง (Frequency Response) อย่างที่เราเคยทราบกันมาก่อนว่าหูของมนุษย์เรานั้นสามารถรับฟังเสียงได้ที่ช่วงความถี่โดยประมาณ 20Hz -20,000Hz ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นช่วงย่านต่ำ, กลาง และสูงหรือแหลม เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจะนำย่านความถี่เสียงแต่ละช่วงเปรียบเทียบกับเสียงที่เราคุ้นเคยดังต่อไปนี้ครับ

  • ต่ำกว่า 40Hz เทียบได้กับเสียงของ Sub Base เป็นเสียงจาก Kick Drum หรือกลองกระเดื่อง เสียงมีความทุ่มต่ำ ซึ่งจะมีแค่เสียงเครื่องดนตรีบางชนิดที่มีเสียงโทนนี้
  • 40Hz – 200Hz เทียบได้กับความถี่เสียง Base หากเราฟังเสียงจากเบส 4 สาย ความถี่เสียงที่ออกมานั้นจะอยู่ประมาณ 40Hz เสียงที่ต่ำสุดที่มาจากกีต้าร์จะอยู่ที่ 80Hz สำหรับเสียงมนุษย์นั้น โทนเสียงที่ต่ำที่สุดของนักร้องชาย สามารถไปได้ถึง 100Hz แต่โดยทั่วไปนั้น จะอยู่ที่ราวๆ 150Hz
  • 200Hz-500Hz เสียงระดับกลางค่อนไปทางต่ำ (Low-Mid) เป็นช่วงเสียงที่เป็นเนื้อเสียงของเครื่องดนตรีทั่วไป เสียงพูดของมนุษย์จะมีพลังและฟังได้ชัดเจนที่สุดที่ความถี่นี้
  • 500Hz-3000Hz เสียงระดับกลาง (Mid Range) เป็นช่วงโทนที่แสดงเอกลักษณ์หรือคาแรคเตอร์ของเสียง เพราะมันคือช่วงของเสียงที่หูมนุษย์จะมีความตอบสนองได้ดีที่สุดแม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ สัญญานเสียงที่ได้ยินจากโทรศัพท์จะต่ำกว่าหรือสูงกว่าเสียงในช่วงนี้เล็กน้อย ซึ่งหากว่าเรารับสายที่โทรเข้ามา เราจะสามารถระบุตัวตนของเจ้าของเสียงได้จากช่วงโทนเสียงนี้นั่นเอง
  • 3000Hz-7000Hz เสียงระดับกลางแหลม (Presence) เป็นช่วงโทนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในความหมายของคำ มันคือช่วงเสียงที่ถูกใช้เวลาพูดพยัญชนะต่างๆ
  • 7000Hz-14000Hz เสียงแหลม (Treble) ในเสียงช่วงนี้จะให้ความรู้สึกถึงความใส แต่การที่มีเสียงในช่วงนี้ดังมากเกินไปจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความรุนแรงและเสียสมาธิในการฟังได้ง่าย ตัวอย่างของเสียงในช่วงนี้เช่นช่วงท้ายของการออกเสียงตัว S และเสียงจากเครื่องสายบางประเภท
  • 14000Hz ขึ้นไป เสียงแหลมช่วงปลาย (Air Band) เสียงช่วงนี้จะให้ความรู้สึก “แพง” จากอุปกรณืบันทึกและเล่นเสียงในระดับ Super-hi-fi ให้ความรู้สึกโปร่งสบาย แต่ก็ไม่ได้มีเครื่องดนตรีที่มีเสียงในช่วงโทนนี้มากนัก

เมื่อเราจะเลือกซื้อไมโครโฟน ตัวเลขนี้ทางแบรนด์ผู้ผลิตก็จะนำมาลงเป็นกราฟ เพื่อให้เราเห็นได้เช่นกันว่าไมโครโฟนตัวนี้ มีการตอบสนองต่อเสียงในความถี่ช่วงไหนได้ดีที่สุด หรือมีการปรับแต่งการรับเสียงในความถี่เสียงช่วงไหน ให้มีลักษณะเด่นเฉพาะขึ้นมาจากไมค์ตัวนั้น เรามาลองดูกราฟจากไมค์ตัวหนึ่งกันครับ

เลือกไมค์ Podcast

ถ้าจะอธิบายคร่าวๆถึงคาแร็คเตอร์ไมโครโฟนตัวนี้ก็พอจะกล่าวได้ว่า ช่วงย่านต่ำกว่า 50Hz จะไม่รับเสียงเข้ามา ส่วนในช่วง 50Hz-100Hz มีการปรับให้รับเสียงน้อยลงก่อนจะค่อยๆถูกปรับให้สูงขึ้น นั้นคือย่านเสียงรบกวนอย่างความถี่ต่ำอย่าง เสียงแอร์ เสียงคอมพิวเตอร์ทำงานนั้น ไมค์ตัวนี้ถือว่าช่วยกันได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ส่วนในช่วงช่วง 100Hz – 5000Hz ไมค์มีการรับเสียงแบบ Flat ไม่มีการปรับลักษณะเสียง ซึ่งเป็นช่วงเสียงการพูดของเสียงคนปกติ และปรับสูงขึ้นในช่วงเสียงสูง 5000Hz-15000Hzเพื่อเพิ่มความใสของปลายเสียง ไมค์ตัวนี้จึงเหมาะอย่างมากที่จะนำมาใช้ในการพูดคุยทั่วไป แต่ถ้านำมาใช้ร้องเพลงก็อาจจะขาดความทุ้มของเสียงไปนั้นเองครับ

รูปแบบการรับเสียง หรือถ้าเราจะไปซื้อไมไครโฟนโดยดูที่ข้างกล่อง หรือดูสเปคในอินเตอร์เน็ตในส่วนนี้ก็คือ Polar pattern นั้นเองครับ จะมีรุปแบบใหญ่ๆอยู่ 3 รูปแบบ

ออมนิไดเร็คชันแนล (Omnidirectional)  คือรูปแบบการรับเสียงเท่าๆกันรอบทิศทาง ไม่ว่าจะตั้งหรือหันไมค์แบบนี้ไว้ตำแหน่งไหนก็รับเสียงได้เหมือนกัน จะเหมาะกับการนั่งคุยเป็นกลุ่มหลายๆคนครับ

เลือกไมค์ Podcast

ไบ-ไดเร็คชันแนล (Bi-directional) คือรูปแบบการรับเสียงที่เน้นด้านหน้าและด้านหลังของไมค์ ด้านข้างจะถูกลดทอนลงไป เหมาะกับการบันทึกเสียงรายการแบบนั่งสัมภาษณ์สนทนากันเพียง 2 คน

เลือกไมค์ Podcast

คาร์ดิออยด์ (Cardioid) คือรูปแบบการรับเสียงที่เน้นหนักไปทางด้านหน้าและค่อยๆลดทอนลงเมื่อออกด้านข้างและน้อยลงที่สุดเมื่ออยู่ทางด้านหลัง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการบันทึกเสียงที่มีเพียงคนเดียว

เลือกไมค์ Podcast

สำหรับเนื้อหาส่วนนี้ ขอขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากคุณเอฟ undervlog.blog และรูปภาพประกอบจาก lewitt-audio.com ครับผม

4. ความเหมาะสมและความสะดวกในการใช้งาน

อย่างที่ผมได้ว่าไว้ตั้งแต่ตอนต้นถึงเรื่องรูปแบบของไมโครโฟนว่ามีอยู่ 2 รูปแบบที่ได้รับความนิยมนั้นก็คือ Dynamic และ Condenser คำถามที่ตามมาบ่อยๆคือ “แล้วอย่างไหนดีกว่า” ถ้าคำถามนี้ผมตอบไม่ได้ครับ แต่มันอาจจะง่ายขึ้นถ้าเปลี่ยนเป็นถามว่า “แล้วอย่างไหนเหมาะสมกว่า” แต่คำถามนี้คุณต้องเป็นคนตอบเองนะครับ เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานในห้อง ในสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงน้ำเสียงของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ไมโครโฟน Dynamic และ Condenser ต่างมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องคำนึงให้ดีครับ

สำหรับการเชื่อมต่อ สำหรับงาน Podcast หรือใช้เพื่อบันทึกเสียงพูด ผมขอเชียร์ให้เลือกใช้แบบ USB จะสะดวกสบายกว่าแบบ 3.5 mm. เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่นิยมมากกว่าจึงมีรุ่นของไมโครโฟนให้เลือกใช้งานมากกว่า รวมคุณคุณภาพเสียงที่ค่อนข้างจะดีกว่าด้วย และแนวโน้มในอนาคตที่ช่องเสียบแบบ 3.5 mm. จะหายไปจากอุปกรณ์ไอทีเรื่อยๆ

ส่วนรูปแบบการรับเสียงนั้นถ้าจัดคนเดียวใช้แบบ คาร์ดิออยด์ (Cardioid) โลดครับ ถ้าแบบมีผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วยก็แบบ  ไบ-ไดเร็คชันแนล (Bi-directional) และถ้ามีหลายๆคนเป็นกลุ่ม 3-4 คนก็ใช้แบบ ออมนิไดเร็คชันแนล (Omnidirectional)  จุดนี้สำคัญนะครับ ทำรายการ Podcast แบบไหนใช้รูปแบบรับเสียงให้ตรง ไม่งั้นได้ซื้อไมค์ตัวใหม่แน่นอนครับ

เลือกไมค์ Podcast
หรือตอนนี้ไมค์บางรุ่นสามารถปรับเลือกรูปแบบการรับเสียงได้ในตัวเลยครับ ในรูป Fifine K690

สำหรับบทความนี้ผมหวังว่าน่าจะพอมีประโยชน์ให้ท่านที่กำลังมองหาไมค์มาใช้งานทำ Podcast หรือใช้งานอื่นๆที่เกี่ยวกับการบันทึกเสียงนะครับ และอย่าลืมติดตาม Fanpage ของแบรนด์เราในทุกช่องทางด้านล่างนี้ เพื่อรับข่าวสารและบทความใหม่ๆ กันครับ

Manfrotto Thiland : https://www.facebook.com/ManfrottoThailand/
Lowepro Thailand : https://www.facebook.com/LoweproTH/
Joby Thailand : https://www.facebook.com/jobythailandofficial/
Spyder Thailand : https://www.facebook.com/DatacolorSpyderTH/

เพจหลักบริษัท : https://www.facebook.com/advancedphotosystems/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้เพื่อการวิเคาะห์ จะเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้บนเว็บไซต์ของเรา เพื่อประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงเนื้อหา และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด

    คุกกี้จะทำการปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย จะทำการส่งข้อมูลความสนใจในเนื้อหาที่ผู้ใช้ได้อ่าน หรือมีกิจกรรมร่วมกันกับเนื้อหานั้น เพื่อนำส่งโฆษณาสินค้าที่ผู้ใช้อาจสนใจ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า